ศิลปะในท้องถิ่น

ศิลปะในท้องถิ่น
     ศิลปะท้องถิ่นกับความเป็นมา
ศิลปะท้องถิ่นในภูมิภาคต่าง ๆ มักมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามภูมิประเทศ วิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะถูกสร้างสรรค์โดยศิลปินหรือผู้คนในท้องถิ่นเอง และมีลักษณะไม่เหมือนกับผลงานศิลปะท้องถิ่นอื่น ๆ
ศิลปะในท้องถิ่นเป็นสิ่งที่นักเรียนควรเรียนรู้และเห็นคุณค่า โดยเฉพาะผลงานศิลปะในท้องถิ่นของตนเอง ดังนั้น นักเรียนควรศึกษาถึงความเป็นมาของผลงานศิลปะเหล่านั้น เพื่อสามารถแนะนำผู้อื่นได้ โดยอาจใช้วิธีการ ดังนี้
1.  สัมภาษณ์โดยตรงกับศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นนั้น
2.  จดบันทึกจากแผ่นป้ายนิเทศ
3.  ศึกษาจากหอสมุดหมู่บ้านหรือวัด
4.  ชมพิพิธภัณฑ์แสดงผลงานศิลปะในท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังมีวิธีค้นหาประวัติความเป็นมาของผลงานศิลปะวิธีอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งนักเรียนควรเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมต่อไป
   การอนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่น
ผลงานศิลปะต่าง ๆ ในท้องถิ่นของไทย ถือเป็นของที่มีคุณค่า และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรหวงแหนและรักษาไว้ นักเรียนสามารถช่วยอนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่นได้ โดยอาจใช้วิธีต่าง ๆ ดังนี้
1.  ถ้ามีโอกาสที่จะเรียนรู้การทำผลงานศิลปะในท้องถิ่น ควรศึกษาและเรียนรู้จนสามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้ เพื่อจะได้สืบสานผลงานศิลปะของท้องถิ่นต่อไป
2.  บันทึกเกี่ยวกับผลงานศิลปะชิ้นต่าง ๆ ในท้องถิ่น เพื่อไว้เป็นข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าต่อไป
3.  ไม่ทำลายผลงานศิลปะต่าง ๆ ในท้องถิ่น
4.  เข้าร่วมกิจกรรมแสดงผลงานศิลปะหรือกิจกรรมอนุรักษ์ผลงานศิลปะ
5.  หากพบรอยชำรุดของผลงานศิลปะให้แจ้งหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

 

ผลงานศิลปะท้องถิ่น
รูปแบบงานศิลปะในท้องถิ่น
     งานศิลปะในแต่ละท้องถิ่น จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมประเพณีและความเป็นอยู่ของผู้คนในท้อง ถิ่นนั้น ๆ และมมีรูปแบบต่าง ๆ เช่น งานปั้น งานแกะสลัก งานเขียนภาพ เป็นต้น

     1.  งานปั้น เป็นผลงานศิลปะท้องถิ่นที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะในวัดและในสถานที่สำคัญของแต่ละท้องถิ่นนั้น ผลงานปั้นของบางท้องถิ่นสามารถสร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เช่น เครื่องปั้นดินเผาของ อ.ด่านเกวียน จ.นครราชสีมา เครื่องปั้นดินเผา ที่เกาะเกร็ด จ. นนทบุรี

2.  งานแกะสลัก งานแกะสลักที่พบในแต่ละท้องถิ่นจะมีความงดงามแตกต่างกัน ซึ่งงานศิลปะประเภทนี้มักอยู่ในพวกของประดับตกแต่ง ของใช้ และสถานที่บางแห่ง เช่น วัด บ้านเรือน เป็นต้น

3.  งานเขียนภาพ งานศิลปะประเภทนี้มีอยู่มากมายในท้องถิ่น เช่น ภาพเขียนผนังในวัด ซึ่งแสดงลวดลายและเล่าเรื่องในท้องถิ่นนั้น งานขียนภาพบางท้องถิ่นสามารถชื่อเสียงให้กับท้องถิ่นจนเป็นที่รู้จักกันทั่ว ไป

  4.  งานจักสาน เป็นงานศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของผู้คนในท้องถิ่นในการนำวัสดุ ต่าง ๆ มาทำเป็นเครื่องจักสานต่าง ๆ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีลักษณะและมีความสวยงามแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ ยังมีงานศิลปะประเภทอื่น ๆ ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันไป เราจึงควรภูมิใจในผลงานศิลปะของท้องถิ่นตนเอง รวมทั้งถ้ามีโอกาสควรช่วยกันสืบทอดให้อยู่คู่ท้องถิ่นของตนตลอดไป

การอนุรักษ์งานศิลปะในท้องถิ่น
ผลงานศิลปะในแต่ละท้องถิ่น ล้วนเป็นผลงานที่มีคุณค่า เราจึงควรภาคภูมิใจและช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ซึ่งวิธีการอนุรักษ์ผลงานศิลปะเหล่านั้น อาจทำได้โดยวิธี ดังนี้
1.  สนับสนุนผลงานศิลปะโดยการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลงานศิลปะในท้องถิ่นตามความเหมาะสม
2.  ถ้ามีโอกาสควรศึกษาเรียนรู้วิธีการสร้างผลงานศิลปะในท้องถิ่นนั้น ๆ จากศิลปินในท้องถิ่น และเข้าร่วมกิจกรรมที่แสดงผลงานศิลปะในท้องถิ่น
3.  เผยแพร่ผลงานศิลปะให้เป็นที่รู้จักแก่คนท้องถิ่นอื่น ๆ
4.  เห็นคุณค่าของผลงานศิลปะในท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น

  1. พชรพล บริสุทธิ์

    ศิลปะท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ต้องอนุรักษ์ไว้ เพราะเกิดจากคนในท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น เกิดความสวยงามในแหล่งชุมชน วัด โรงเรียน

ความคิดเห็น